วันอาทิตย์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การทำโครงสร้างต้นทุน (Cost Break Down Format)

การแจกแจงต้นทุนเพื่ออธิบายรายละเอียดในการคิดราคาที่ใช้กันในวงการ Supplier ของฮีโน่ และโตโยต้า นั้นโดยปกติ Cost Break Down ที่ใช้กัน จะมีรูปแบบที่ทำกันอยู่ 2 แบบคือแบบหน้าเดียว และแบบหลายหน้า ซึ่งแบบหน้าเดียว จะเป็นรูปแบบของฮีโน่ และแบบหลายหน้าจะเป็นรูปแบบของโตโยต้า แต่ไม่ว่าจะแบบใดก็ตาม เนื้อหาในโครงสร้างราคาของทั้งสองแบบนั้น มีโครงสร้างการคิดราคาที่เหมือนกัน ดังรูป



ส่วนต่าง ๆ ของต้นทุนที่ประกอบกันออกมาเป็น Cost Break Down สามารถทำออกมาเป็นส่วน ๆ ดังนี้

Header เป็นการลงข้อมูลทั่ว ๆ ไปของงานที่ทำราคาคือ ชื่อ Supplier, ชื่อชิ้นงาน (Part Name), รหัสชิ้นงาน (Part Number), กำหนดการมีผลบังคับใช้ราคา (Effective date), มูลเหตุของการทำราคา (Price reason) หรือสถานะของราคา (Stage of Price) และเงื่อนไขต่าง ๆ อย่างคร่าว ๆ

Material cost เป็นส่วนของการคิดราคาวัตถุดิบทางตรง (Direct Material) ว่าคิดอย่างไร โดยระบุชนิดของวัตถุดิบ (Material specification), จำนวนที่ใช้ซึ่งโดยมากจะระบุเป็นน้ำหนัก (Gross weight, kg.), น้ำหนักชิ้นงานสุทธิ (Part weight, kg.), น้ำหนักเศษซากที่สามารถขายคืนได้ (Scrap weight, kg.), และคิดคำนวนออกมาเป็นค่าวัตถุดิบสุทธิ

Purchase cost เป็นชิ้นส่วนย่อย (Component part) ที่ซื้อมาใช้ ส่วนมากจะเป็นชิ้นส่วนมาตรฐาน (Standard Part) เช่น Bolt, Nut, Rivet, Washer เป็นต้น ซึ่งในส่วนนี้ยังหมายรวมถึงขั้นตอนการผลิตบางอย่างที่ไม่สามารถทำได้เอง ต้องจ้างให้ที่อื่นช่วยทำให้ เช่นงานทำผิวต่าง ๆ เช่น การชุบ EDP, Zince เป็นต้น

Process Cost ค่ากระบวนการผลิต (Process rate) สำหรับ buyer นิยมที่จะให้คิดออกมาเป็นต่อหน่วยการใช้งาน ซึ่งในการใช้งานจำเป็นต้องใช้กี่หน่วย ก็คูณรวมกันออกมา สำหรับค่ากระบวนการผลิตที่ใช้อยู่มีดังนี้

งาน Press คิดคามขนาดของเครื่องปั๊ม (Press machine) หน่วยการคิดราคาคือ บาทต่อสโตรก
งานเชื่อมด้วยลวดเชื่อมหรือ CO2 เหมารวมทุกขนาดทั้ง Hand welding และ Robot welding หน่วยการคิดราคาคือ บาทต่อเซ็นติเมตร
งานเชื่อมแบบ Spot Welding เหมารวมทุกขนาด หน่วยการคิดราคาคือ บาทต่อจุด Spot

ทั้งนี้ก่อนแจ้งให้มีการแข่งขันราคากัน Buyer จะพิจารณา Process Rate เป็นอันดับแรกก่อนเลยว่า Supplier รายใดมี Process Rate ที่เหมาะสม ซึ่งเป็นอัตราที่คงที่และทราบกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับ Supplier รายใหม่ที่น่าสนใจ ก็อาจมีการสอบถามในส่วนนี้ได้ และการที่จะยอมรับหรือกำหนด rate ที่จะบอกขายได้นั้น Supplier จำเป็นต้องรู้และมีการกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการผลิตของตัวเอง ซึ่ง Rate ที่จะบอกขายจะดีหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับการจัดการต้นทุนภายในของแต่ละ Supplier เอง

Investment หรือค่า Tooling สำหรับค่าการลงทุนที่จะคิดเรียกเก็บนี้ สามารถขอเรียกเก็บได้ และต้องแจ้งมาพร้อมกับตอนที่เสนอราคา ซึ่งการพิจารณาจ่ายค่าการลงทุนนี้จะจ่ายให้แต่ค่าเครื่องมือเฉพาะที่จำเป็นต้องใช้ และใช้ทำชิ้นงานชิ้นนั้น ๆ ได้เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถนำไปใช้งานอย่างอื่นได้

Over Head / Administration / Profit ส่วนนี้เรียกรวม ๆ ว่าค่าการจัดการทั้งหมดเบ็ดเสร็จจนชิ้นงานถึงโรงงานผู้ซื้อ ซึ่งประกอบด้วยโสหุ้ยต่าง ๆ ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณณฑ์ และกำไร รวม ๆ กันซึ่งในที่นี้จะเหมารวมเป็น %ของค่าการผลิต (Manufacturing cost) ซึ่งประกอบด้วยค่าวัตถุดิบ ค่ากระบวนการผลิต ค่าชิ้นส่วนย่อย ค่าการผลิตรวมกับค่าการจัดการก็จะได้เป็นราคาขายในที่สุด

วันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

จดหมายถึงสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี


พระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีไปถึงสมเด็จ พระเทพ รัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๗
สมเด็จ พระเทพ รัตนราชสุดาฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้นำเผยแพร่ มีดังนี้

ลูกพ่อในพื้นแผ่นดินนี้ ทุกสิ่งเป็นของคู่กันมาโดยตลอด มีความมืดและความสว่าง ความดีและความชั่ว
ถ้าให้เลือกในสิ่งที่ตนชอบแล้ว ทุกคนปรารถนาความสว่างปรารถนาความดีด้วยกันทุกคน
แต่ความปรารถนานั้นจักสำเร็จลงได้ จักต้องมีวิธีที่จักดำเนินให้ไปถึงความสว่าง หรือ ความดีนั้น
ทางที่จักต้องไปให้ถึงความดีก็คือรักผู้อื่น เพราะความรักผู้อื่น สามารถแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา ถ้าให้โลกมีแต่ความสุขและเกิดสันติภาพความรักผู้อื่นจักเกิดขึ้นได้

พ่อขอบอกลูกดังนี้…
๑. ขอให้ลูกมองผู้อื่นว่า เป็นเพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตายด้วยกัน ทั้งหมดทั้งสิ้น ไม่ว่าอดีต...ปัจจุบัน...อนาคต
๒. มองโลกในแง่ดี และจะให้ดียิ่งขึ้น ควรมองโลกจากความเป็นจริง อันจักเป็นทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง และเหมาะสม
๓. มีความสันโดษ คือ
- มีความพอใจเป็นพื้นฐานของจิตใจ พอใจตามมีตามได้ คือได้อย่างไร ก็เอาอย่างนั้น ไม่ยึดติด ขอให้คิดว่ามีก็ดี ไม่มีก็ได้ พอใจตามกำลัง คือมีน้อยก็พอใจตามที่ได้น้อย
- ไม่เป็นอึ่งอ่างพองลมจะเกิดความเดือดร้อนในภายหลัง
- พอใจตามสมควร คือทำงานให้มีความพอใจเหมาะสมแก่งาน
- ให้ดำรงชีพให้เหมาะสมแก่ฐานะของตน
๔. มีความมั่นคงแห่งจิตคือให้มองเห็นโทษของความเกียจคร้าน และมองเห็นคุณประโยชน์ของความเพียร และเมื่อเกิดสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาให้ภาวนาว่า...มีลาภ มียศ สุขทุกข์ปรากฏ สรรเสริญนินทา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ เป็นกฎธรรมดา อย่ามัวโศกานึกว่า ' ชั่งมัน '

พ่อ
๖/๑๐/๒๕๔๗

วันพฤหัสบดีที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

Cost Break Down

Cost Break Down หรือโครงสร้างราคา เป็นรายละเอียดในการแจกแจงต้นทุนต่าง ๆ ที่นำมาคิดราคาเสนอมา ในใบเสนอราคาหรือ Quotation ส่วนมากทำโดยแจกแจงออกมาเป็น ค่าวัตถุดิบ (Material cost), ค่าการผลิต (Process cost), ค่าส่วนประกอบย่อยที่ซื้อมา(Component cost), ค่าการจัดการและกำไร (Over head & Profit) เป็นต้น ซึ่งผมไม่แน่ใจน่ะครับว่าค่ายอื่น ๆ จะมีหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ มันเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับค่ายโตโยต้า และฮีโน่ หรืออาจจะเรียกเป็นอื่นสำหรับค่ายอื่นก็สุดแท้แต่

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องมี Cost Break Down ก็เนื่องจากว่าในการตัดสินใจเกี่ยวกับงานราคา ในการซื้อขายชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อส่งเข้าสายการผลิตนั้น มักจะเริ่มต้นจากการที่ต้องกำหนดราคาโดยที่ยังไม่เห็นชิ้นงาน หรือการผลิตจริง และเมื่อทำการเลือกให้ชิ้นงานนั้น ๆ กับ Supplier รายใดแล้ว การจะเปลี่ยน Supplier ในตอนหลังไม่สามารถทำได้ง่าย ซึ่งในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ Supplier ที่เสนอราคาถูกก็อาจจะไม่ได้รับเลือกก็เป็นไปได้ เพราะการตัดสินใจสำหรับเรื่องนี้ไม่ได้พิจารณาที่ราคาถูกที่สุด แต่พิจารณาจากราคาที่เหมาะสมที่สุดที่เป็นไปได้

ดั้งนั้นหลังจากที่ Supplier ได้เสนอราคามาแล้ว หากมีการร้องขอให้ส่ง Cost Break Down มา ขอให้ท่านอย่าได้รำคาญ แต่ขอให้คิดว่าราคาที่เสนอมานั้นเป็นที่น่าสนใจสำหรับบายเออร์ แต่สำหรับSupplier บางรายที่ยังไม่เข้าใจ มักจะปกปิดและไม่อยากเปิดเผยต้นทุนของตัวเอง ด้วยเหตุที่คิดว่าจะกลัวโดนต่อรองราคา หรือไม่สามารถที่จะทำกำไรมาก ๆ ได้ ซึ่งก็เป็นเหตุผลส่วนหนึ่งซึ่งไม่เป็นธรรมสำหรับผู้ซื้อ แต่ในทางกลับกันถ้าหากคุณทำราคาผิดพลาดขึ้นมาและตกลงทำสัญญากันไปแล้วแต่ไม่สามารถทำได้จริงคุณก็ไม่สามารถมาเรียกร้องในส่วนที่ผิดพลาดนั้นได้เช่นกัน หรืออาจทำให้คุณเสียโอกาสในการแข่งขัน เพราะในการแข่งขันราคาในระยะหลัง ๆ นี้ บายเออร์ไม่ได้แข่งขันกันที่ราคา แต่แข่งขันกันที่ความสามารถในการผลิต ซึ่งบายเออร์จำเป็นต้องนำต้นทุนต่าง ๆ จาก Cost Break Down มาเปรียบเทียบต้นทุนแข่งกัน

นอกจากนี้หลังจากเริ่มซื้อขายกันแล้ว Cost Break Down ยังช่วยให้ บายเออร์สามารถวางแผนจัดการต้นทุนผันแปรต่าง ๆ ได้ด้วย เป็นการแบกรับภาระร่วมกัน สำหรับความเสี่ยงจากปัจจัยการผลิตต่าง ๆ จากภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุมที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ในส่วนนี้ถ้าไม่มีการตกลงในเรื่องรายละเอียดของโครงสร้างราคากันไว้ก่อน ก็เป็นการยากที่บายเออร์จะยอมรับหรือเตรียมการช่วยเหลือ Supplier ได้ทัน

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เกือบถอดใจ



หลังจากผมเปิด blog มา blog ผมก็หยุดอยู่นิ่ง ๆ ไม่มีความเคลื่อนไหวอะไรกับมัน ไประยะหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ผมเองได้คิดเรื่องที่อยากจะเขียนไว้มากมาย มากเสียจนผมเองก็สับสนในความคิดตัวเอง เพราะเรื่องที่อยากจะเขียนมันเยอะแยะมากมาย เยอะจนผมไม่รู้จะเริ่มมันอย่างไรดี

เป็นความบังเอิญ ผมได้ไปลำดับความคิดของตัวเองออกว่าควรจะเริ่มต้นมันอย่างไรดีก็ตอนที่อยู่บนรถ สำหรับผมแล้วการนั่งรถถือว่าเป็นเหมือนกับการอยู่กับตัวเอง เพราะอยู่บนรถผมไม่สามารถทำอะไรได้ นอนก็ไม่หลับ จะพูดคุยกับใคร หันไปข้าง ๆ ก็ไม่รู้จัก เมื่อได้อยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ แล้วเรื่องทั้งหลายมันจะหลั่งไหลเข้ามาในหัวให้คิดไปเรื่อยเปื่อย คิดไป คิดมา คิดมาคิดไปก็ได้ไอเดีย อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งมันมักจะเป็นอย่างนี้เสมอ จนบางครั้ง ผมคิดว่าผมโชคดีที่ผมสามารถรู้ทันสมองหยักน้อย ๆ ที่อยู่ในหัวผม ว่าผมควรจะต้องจัดสภาพแวดล้อมอย่างไร เพื่อล่อหลอกให้สมองของผมได้ตื่นจากภวังค์ มาทำงานของมันในส่วนของการคิด ซึ่งบางครั้งมันก็คิดอะไรไร้สาระ ตลก ๆ หรืองี่เง่าอย่างไรก็ปล่อยมัน ให้มันคิดไปเรื่อย ๆ ผมมีหน้าที่เพียงแค่รับรู้ตามมันและก็จดจำว่ามันคิดอะไรไป หลายครั้งบางความคิดอาจดูตื้น ๆ แต่มันก็สามารถเอาไปใช้ได้จริงอย่างคาดไม่ถึง จนผมเองคิดว่าผมเป็นคนโชคดี ที่สามารถจับทางในการที่จะเรียกใช้งานสมองน้อยของผมได้ จึงทำให้ผมสามารถที่จะหาทางออกให้กับตัวเองได้เสมอ บราๆๆๆๆๆๆๆ..เริ่มออกทะเลไปไกลฝั่งเรื่อย ๆ

เอาเป็นว่าผมจับทางสมองหยักน้อย ๆ ของผมได้แนว ๆ นี้แหละครับ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวผมเองแล้วหล่ะว่าจะมีเวลาเขียนมันออกมาได้แค่ไหน แต่ด้วยความตั้งใจผมจะพยายามครับ
(อ้างเวลาอีกแระ จริง ๆ แล้วออกแนวขี้เกียจซ่ะมากกว่า -_-")